ในมุมมองของแพทย์แผนจีนร่างกายที่แข็งแรงคือร่างกายที่มีหยินหยางสมดุลกัน เมื่อร่างกายสมดุล อวัยวะภายในแข็งแรง เมื่อเราเจอ เชื้อโรค หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น ความร้อน ความชื้น อากาศหนาว อากาศเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่ป่วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากร่างกายเราไม่สมดุลเมื่อเราเจอกับเชื้อโรค หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก เปลี่ยนแปลง เราก็จะป่วยง่าย
การปรับสมดุลร่างกายในมุมมองแพทย์แผนจีนมีหลายวิธีเช่น ฝังเข็ม ครอบแก้ว ยาจีน กัวซา รมยา ทุยหนา นอกจากนั้นยังรวมถึงการปรับอาหาร อากาศ อารมณ์ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่ดีอีกด้วย
ในเบื้องต้นหากเราสนใจดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนวิธีที่ง่ายที่สุดคือการรับประทานอาหารให้เป็นยา เพื่อช่วยปรับสมดุลหยินหยาง ลดอาการป่วยต่างๆ ได้อีกด้วย โดยหมอจะแนะนำอาหารสมุนไพรต่างๆ ตามฤทธิ์ของสมุนไพรนั้นๆให้เพื่อนเลือกนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากมีข้อสงสัยก็สามารถถามหมอเข้ามาได้นะคะ หมอยินดีตอบค่ะ
วิธีที่ง่ายที่สุดคือการรับประทานอาหารให้เป็นยา
สมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน
เหมาะสำหรับคนที่ร่างกายมีหยินมากเกินไป เช่น มือเท้าเย็น ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่ค่อยแข็งแรง ถ่ายเหลว ท้องร่วง ไม่สดชื่น ขี้หนาว ในช่วงที่ร่างกายมีอาการเช่นนี้ เราสามารถใช้ยาหรืออาหารในหมวดนี้ ชงเป็นชาดื่ม หรือใส่ทำในอาหารรับประทานเพื่อปรับสมดุลร่างกาย ลดอาการได้
ขิง ภาษาจีนเรียกว่า 生姜 ซึ่งหมายถึงขิงอ่อน
ขิงแก่ เรียกว่า 干姜
ขิง มีฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด กลิ่นหอม สารประกอบที่ให้รสเผ็ดร้อน คือจิงเจอรอล (gingero) และโชกาออล (shogaol) ซึ่งมีมากในขิงแก่ สรรพคุณ:
- ลดเสมหะ
- แก้ไอ
- รักษาอาการหวัด
- ขับเหงื่อ
- ขับลม
- แก้อาการเมารถเมาเรือ
- แก้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้ท้องอึดเฟ้อ
- รักษาโรคกระเพาะ
- ช่วยการไหลเวียนของเลือด
- แก้ปวด
- ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
แต่ขิงสดและขิงแห้ง มีสรรพคุณแตกต่างกัน เราสามารถเลือกรับประทานตามสมดุลของร่างกายในช่วงนั้น
ขิงสด มีฤทธิ์อุ่น ดีต่อการทำงานของม้าม ปอด กระเพาะ ช่วยแก้หอบหืด ขับเหงื่อ อาเจียน เบื่ออาหาร
ขิงแห้ง มีฤทธิ์ร้อน ช่วยแก้อาการปวดจากความเย็น ท้องเสีย อาการมือเท้าเย็น และรักษาโรครูมาติก ปวดเอว (มีความเย็นมาก) มือเท้าเย็น รักษาภาวะน้ำลายมาก แก้อาเจียน
วิธีใช้รับประทาน
- นำขิงสดมาเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารที่มีเนื้อสัตว์ร่วมด้วยเสมอ เพื่อลดกลิ่นคาว เช่น ไก่ผัดขิง ปลาผัดขิง หมูผัดขิง สามารถใส่เห็ดหูหนูดำร่วมด้วยเพื่อช่วยบำรุงเลือด ขับลม บำรุงไต ขับสารพิษ การเลือกขิงสดมาใช้ ควรเป็นขิงสดอ่อน ที่ผิวไม่เหี่ยว อวบ และลำน้ำ
- ขิงแห้ง ชงดื่มแก้ท้องเสีย ต้มขิงแห้งรวมกับขิงสดกินแก้หวัดและไข้ หรือต้มขิงสดกับเปลือกส้มแห้ง ดื่มขณะอุ่น ๆ ช่วยลดอาการไอ
- ขิงสดคั้นน้ำประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 6 ช้อนชา อุ่นให้ร้อน กินขับเสมหะ
- ต้มขิงสดผสมกับพุทราจีนแห้ง และก้านต้นหอม ดื่มแก้หวัด
- ตุ๋นขิงสดกับกระเพาะหมูกินเป็นกับข้าว ช่วยรักษาอาการในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
- ดื่มน้ำขิงอุ่น 1 แก้ว ก่อนเดินทางอย่างน้อยสัก 20 นาที จะช่วยลดอาการเมารถเมาเรือได้ดี
- นำขิงมาทุบแล้วหมกไฟพออุ่น ถูทาหนังศีรษะบริเวณที่ผมๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่
ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีอาการร้อนใน เจ็บคอ คอแห้ง และมีเหงื่ออกมากในตอนกลางคืน ไม่ควรกิน
คนท้องไม่ควรกินขิงเป็นประจำหรือติดต่อกันนาน